ในตอนนี้ หลายๆ ท่านอาจตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกติด LPG หรือติด NGV ให้กับรถคันโปรดของคุณ คำถามต่อจากนี้ก็คือ ควรจะเลือกระบบแก๊สแบบไหน ถึงจะเหมาะกับรถยนต์ของเรา ได้ประสิทธิภาพที่เหมาะสมที่สุดกับรถยนต์ของเรา ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งเทคโนโลยีในการติดตั้งแก๊สรถยนต์ในปัจจุบันมี 2 ระบบหลัก คือระบบหัวฉีดและระบบดูด

ในบทความนี้ เราจะมาทำความรู้จักกับระบบที่ใช้ในการติดตั้งแก๊สรถยนต์ ที่เหมาะสมกับรถของเรา ซึ่งในการติดตั้งแก๊สรถยนต์ทั้งLPGและNGV สามารถแบ่งได้เป็น 2 ระบบ คือ ระบบดูดและระบบหัวฉีด
1)การติดตั้งแก๊สระบบดูด (Fumigation)
เป็นระบบที่ออกแบบมาให้ใช้กับรถยนต์ที่เป็นเครื่องคาร์บูเรเตอร์ (Carburetor) ซึ่งมักใช้ในรถยนต์รุ่นเก่าตั้งแต่ ปี 1995 ลงไป โดยเรียกกันในอีกชื่อหนึ่งว่าระบบมิกเซอร์
หลักการทำงานของระบบดูด
จะอาศัยแรงดูดของเครื่องยนต์เป็นตัวกำหนดปริมาณเชื้อเพลิง LPG เช่น
เมื่อเราขับรถด้วยความเร็วสูง รอบเครื่องยนต์จะสูง แรงดูดอากาศ ในเครื่องยนต์มาก จ่ายเชื้อเพลิงมาก
เมื่อเราขับรถด้วยความเร็วต่ำ รอบเครื่องยนต์จะต่ำ แรงดูดอากาศ ในเครื่องยนต์น้อย จ่ายเชื้อเพลิงน้อย
ระบบดูดจะอาศัยกลไกเป็นหลักในการควบคุมการจ่ายเชื้อเพลิง จึงสามารถติดตั้งในรถยนต์ที่เป็นหัวฉีดน้ำมันได้ โดยจะทำให้การจ่ายเชื้อเพลิงไม่แม่นยำ และสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่าระบบหัวฉีด อีกทั้งกำลังของเครื่องยนต์ลดลงจากการใช้น้ำมันประมาณ 15-20%
2) การติดตั้งแก๊สระบบหัวฉีด (Sequential Injection)
เป็นระบบที่ออกแบบมาให้ใช้กับรถยนต์ที่เป็นเครื่องยนต์หัวฉีดน้ำมัน (Fuel Injection) ซึ่งรถยนต์รุ่นใหม่ๆตั้งแต่ปี1995เป็นต้นมาในตลาดทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องยนต์หัวฉีดน้ำมัน
หลักการทำงานระบบแก๊สหัวฉีด
จะมีกล่องควบคุมอิเล็คทรอนิกส์ (ECU) ซึ่งเปรียบเหมือนสมองกล ที่จะรับข้อมูลสภาวะต่างๆ ของรถยนต์ เช่นอุณภูมิ ความดันอากาศ ฯลฯ จากเซ็นเซอร์ต่างๆ เพื่อมาใช้ในการประมวลผลการสั่งจ่ายก๊าซ เลียนแบบการทำงานของหัวฉีดน้ำมัน ได้อย่างละเอียดในทุกรอบการทำงานของเครื่องยนต์ ทำให้สมรรถนะและกำลังของเครื่องยนต์ใกล้เคียงการใช้งานในระบบน้ำมันและการจ่ายเชื้อเพลิงที่แม่นยำกว่าทำให้ สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงน้อยกว่าการติดแก๊สระบบดูด การปรับจูนระบบก๊าซต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการปรับจูน